“แมลงสิง” ศัตรูข้าวในระยะออกรวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Leptocorisa oratorius (Febricius)

รูปร่างลักษณะ

ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาว ประมาณ 15 มิลลิเมตร มีหนวดยาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ด้านล่างสีเขียว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนี และปล่อยกลิ่นเหม็นออกจากต่อมที่ส่วนหน้าท้อง ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวก่อน ต่อมาเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง

ลักษณะการทำลาย และการระบาด

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าว ระยะเป็นน้ำนม แต่ก็สามารถดูดกินเมล็ดข้าวทั้งเมล็ดอ่อนถึงเมล็ดแข็ง ทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์ และผลผลิตข้าวลดลง ความสูญเสียจากการเข้าทำลายของแมลงสิง ทำให้เมล็ดข้าวเสียคุณภาพมากกว่าทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง โดยเมล็ดข้าวที่ถูกแมลงสิงทำลาย เมื่อนำไปสีเป็นข้าวสารเมล็ดจะแตกหัก

การป้องกันกำจัด

1.กำจัดวัชพืชในนาข้าว คันนา และรอบๆแปลง

2.ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อน และตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย

3.ตัวเต็มวัยชอบกินเนื้อเน่า โดยนำเนื้อเน่าแขวนไว้ตามคันนา แล้วจับมาทำลาย

4.หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์

5.ใช้สารกำจัดแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ20 ลิตร พ่นเมื่อพบแมลงสิงมากกว่า 4 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะข้าวเป็นน้ำนม

3729total visits,30visits today